อาการสายตาสั้นคืออะไร?
อาการสายตาสั้น คือ อาการที่จอประสาทตาของเราไม่สามารถโฟกัสสิ่งต่างๆได้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดภาพมัว ในเวลาที่มองระยะไกล โดยปกติทั่วไปแล้วมักจะเกิดได้ในทุกช่วงวัย และเมื่อเริ่มมีอาการทางสายตาสั้นเกิดขึ้น ค่าของสายตาก็จะสั้นขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุ จนเมื่อถึงวัยผู้ใหญ่ ค่าสายตาจึงจะเริ่มคงที่ โดยอาการสายตาสั้นนั้น เกิดจากภาวะผิดปกติของสายตา โดยกระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติ ทำให้ได้รับแสงที่หักเหมากเกินไป นอกจากนี้ ยังเกิดจาก ความยาวลูกตาผิดปกติ หรือลูกตามีขนาดใหญ่กว่าปกติ ส่งผลให้จุดรวมแสงตกกระทบอยู่ที่ด้านหน้าเรตินา และทำให้มองวัตถุที่อยู่ในระยะไกลได้ไม่ชัดเจน ทั้งนี้ค่าสายตาสั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งเราต้องยอมรับว่าปัจจุบันการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์และการดูหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานแทบจะเป็นส่วนนึงของชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งการอ่านหนังสือในที่ที่มีแสงสว่างไม่มากพอเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสายตาสั้นได้
สำหรับกรรมพันธุ์ หากบิดามารดามีอาการสายตาสั้นอยู่แล้ว บุตรอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการสายตาสั้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากยีนสายตาสั้นสามารถส่งต่อทางกรรมพันธุ์ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบว่าผู้ที่มีสายตาสั้นจากกรรมพันธุ์ จะมีสายตาที่สั้นมาก ๆ ตั้งแต่กำเนิด และสายตาจะสั้นขึ้นเร็วมาก
สายตาสั้นมีกี่ระดับ
ระดับของสายตาสั้นจะวัดด้วยหน่วยที่เรียกว่า ไดออปเตอร์ (D) ซึ่งเป็นค่าความโค้งของกระจกตาและลูกตาที่มากกว่าปกติ โดยสามารถนำมาแบ่งเป็นระดับของสายตาสั้นได้ 2 ระดับหลัก คือ
สายตาสั้นระดับปกติ
ค่าสายตาจะอยู่ที่ช่วงระหว่าง -0.25 ถึง -3.00 ไดออปเตอร์ หรือมีค่าสายตาสั้นน้อยกว่า 300 ซึ่งผู้ที่มีอาการสายตาสั้นระดับต่ำมักจะยังมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลได้ในระดับหนึ่ง แต่หากอยู่ไกลมากก็จะเริ่มมองเห็นไม่ชัดเจน
สายตาสั้นระดับมาก
ค่าสายตาจะมีระดับที่มากกว่า – 6.00 ไดออปเตอร์ หรือมีค่าสายตาสั้นมากกว่า 600 ขึ้นไป ซึ่งผู้ที่มีอาการสายตาสั้นระดับสูงมักมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลไม่ชัดเจนนัก จึงต้องอาศัยแว่นตา หรือคอนแทคเลนส์เพื่อปรับสายตาให้สามารถมองได้ปกติ
การดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะสายตาสั้น
การเกิดภาวะสายตาสั้นนั้นไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากสาเหตุของการเกิดประกอบด้วยหลายปัจจัย อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างดวงตาตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล แต่แม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะสายตาสั้นได้ แต่เราสามารถชะลอไม่ให้สายตาสั้นเพิ่มมากขึ้นได้ โดยมีวิธีการดังนี้
1.เข้ารับการตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ
2.หากเริ่มมีภาวะสายตาสั้น ควรหาทางแก้ไขให้สามารถใช้สายตาได้ปกติ ไม่ว่าจะเป็นการใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ที่มีค่าสายตาที่เหมาะสมกับดวงตา หรือเข้ารับการผ่าตัดกับจักษุแพทย์
3.หากต้องทำกิจกรรมที่ใช้สายตาเป็นระยะเวลานานหรือเป็นประจำ ควรมีการหยุดพักสายตา
4.เมื่อทำกิจกรรมภายนอกบ้าน ควรสวมแว่นกันแดด เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลต (UV)
5.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักใบเขียว ผลไม้ รวมไปจนถึงอาหารที่มีกรดโอเมก้า 3 จะช่วยบำรุงสายตาได้ดี
6.ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพราะโรคเรื้อรังบางโรคสามารถส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ดังนั้น เมื่อเป็นโรคดังกล่าวแล้ว ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างถูกต้อง
ปรึกษา / นัดคิวตรวจสายตา
Line id : @Siamglasses
โทรศัพท์ : 092-1234-957