สายตาเอียง (Astigmatism)
สายตาเอียงเป็นปัญหาสายตาที่เกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งไม่เท่ากันหรือมีรูปร่างผิดไปจากปกติ ทำให้มองเห็นเป็นภาพเบลอ หรือเห็นภาพผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ทั้งในระยะใกล้และระยะไกล ทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการปวดหัว ปวดตา หรือตาล้าหลังจากใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น การอ่านหนังสือ หรือการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ สายตาเอียงสามารถเกิดขึ้นได้ร่วมกับปัญหาสายตาสั้นหรือสายตายาว ซึ่งจะตรวจพบจากการตรวจวัดค่าสายตากับจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ การรักษาสายตาเอียงมีหลายวิธีตามความต้องการและความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น การใส่แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์สำหรับผู้ที่สายตาเอียง และการผ่าตัดแก้ไขสายตา
อาการของสายตาเอียง
หากผู้ป่วยสายตาเอียงน้อยจะมีอาการทางสายตาที่ปรากฏน้อยมาก โดยอาการแสดงที่พบจะชัดเจนขึ้นตามระดับความรุนแรงของสายตาเอียง พบว่ามีอาการดังนี้
- ตามัว มองเห็นภาพไม่ชัด ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดีในตอนกลางคืน
- เห็นภาพผิดเพี้ยน หรือผิดรูปผิดร่างจากความเป็นจริง
- ปวดตา ตาล้า
- ปวดหัว
- หากมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยสายตาเอียงจะมองเห็นภาพซ้อน
- เด็กที่สายตาเอียงมาก มักเอียงศีรษะหรือเอียงคอ เพื่อช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น
สาเหตุของสายตาเอียง
โดยปกติแล้ว กระจกตาและเลนส์ตาของคนจะมีรูปร่างโค้งมนเป็นทรงกลม เมื่อแสงตกกระทบบนจอประสาทตาจะเกิดเป็นภาพที่ทำให้คนเรามองเห็น ในกรณีสายตาเอียงจะเกิดจากกระจกตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน หรือกระจกตามีรูปร่างผิดไปจากปกติ เช่น โค้งเป็นทรงรี หรือรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียง ทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดหรือผิดเพี้ยนไปจากความจริง เนื่องจากตำแหน่งการตกกระทบของแสงเปลี่ยนไป โดยสามารถเกิดขึ้นร่วมกับปัญหาสายตาสั้นและสายตายาวได้
สายตาเอียงส่วนใหญ่มักเป็นแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น ตาเหล่
ได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตาจากการอักเสบหรือติดเชื้อที่สร้างรอยแผลที่กระจกตา
ได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตาจากการผ่าตัดดวงตา กระจกตามีรูปร่างผิดปกติ
สายตาเอียงมี 2 ชนิด คือ
- สายตาเอียงแบบสม่ำเสมอ
สายตาเอียงแบบสม่ำเสมอเกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน หรือมีรูปร่างผิดไปจากปกติ เช่น โค้งเป็นวงรี หรือรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียงเพียงทิศทางเดียว ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้ทั่วไป และเป็นกรณีที่พบได้มากกว่าสายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ สามารถรักษาได้ด้วยการสวมใส่แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ หรือการผ่าตัดรักษากระจกตา -
สายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอ
สายตาเอียงแบบไม่สม่ำเสมอเกิดจากกระจกตาหรือเลนส์ตามีความโค้งไม่สม่ำเสมอกัน หรือมีรูปร่างผิดไปจากปกติ เช่น โค้งเป็นวงรี หรือรูปไข่ ทั้งในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียงในหลายทิศทาง มักเกิดจากการประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนดวงตา และไม่สามารถรักษาได้ด้วยการสวมแว่นสายตา แต่สามารถใส่คอนแทคเลนส์ หรือผ่าตัดรักษากระจกตาได้
การป้องกันสายตาเอียง
สายตาเอียงป้องกันไม่ได้ แต่สามารถดูแลดวงตาเพื่อลดโอกาสที่จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคตด้วยวิธีการดังนี้ ใช้สายตาในที่ๆมีแสงสว่างเพียงพอ
หลีกเลี่ยงการใช้สายตานานๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ ดูทีวี อ่านหนังสือ ให้พักสายตาเป็นระยะๆ หลีกเลี่ยงการขยี้ตาเพื่อป้องกันไม่ให้กระจกตากระทบกระเทือน
รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา ประกอบด้วยวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอีและลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) เช่น ผักใบเขียวและผลไม้
ปรึกษา / นัดคิวตรวจสายตา
Line id : @Siamglasses
โทรศัพท์ : 092-1234-957